ร้านสมุนไพรออนไลน์
โดยปกติจะตอบกลับภายในไม่กี่ชั่วโมง
(Auto Reply) Thank you for your message. We will get back to you during office hours Mon-Sat 10am-5pm (GMT+7)
เริ่มแชท

ตำลึง ผง 1กิโลกรัม

คุณสมบัติสินค้า:

แหล่งวิตามินเอที่สำคัญที่เราสามารถหาได้จากอาหารก็ต้องยกให้ตำลึงเป็นแหล่งที่ดีของวิตามินเอเลยล่ะค่ะ และนอกจากวิตามินเอแล้ว เบต้าแคโรทีนในตำลึงยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สามารถเปลี่ยนตัวเองเป็นวิตามินเอได้อีก ดังนั้นตำลึงจึงจัดเป็นอาหารบำรุงสายตาตัวจี๊ดที่หากินได้ง่าย ๆ แถมยังอร่อยด้วย

Share

ที่มา https://health.kapook.com/view195653.html


          ผักริมรั้วที่ขึ้นดาษดื่น ดูไม่ค่อยมีค่ามีราคา แต่สรรพคุณของตำลึงก็หาธรรมดาไม่ มาดูสรรพคุณของตำลึงกันซะก่อน แล้วจะร้องอู้หูว !
 

          ตำลึงเป็นผักริมรั้วที่หากินได้ง่าย มีให้กินตลอดทั้งปี แถมยังราคาถูก นำมาประกอบอาหารก็ทำได้หลากหลายเมนู และหลายคนก็เคยกินตำลึงมาไม่รู้ตั้งเท่าไร แต่เคยทราบสรรพคุณของตำลึงกันไหมคะว่า ผักสมุนไพรตำลึง สรรพคุณเขาแพรวพราวขนาดไหน เอาเป็นว่ากระปุกดอทคอมจะพามาดูประโยชน์ของตำลึง รวมไปถึงสรรพคุณทางยาของตำลึงกันค่ะ

ตำลึง ชื่อทางวิทยาศาสตร์ สรรพคุณมีอะไรบ้าง

          ต้นตำลึงมักจะขึ้นตามรั้วบ้าน ที่สำคัญมักจะขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยเฉพาะในฤดูฝน แต่เห็นตำลึงบ้าน ๆ อย่างนี้ก็มีชื่อทางวิทยาศาสตร์กับเขาเหมือนกันนะคะ แถมตำลึงยังมีชื่อสามัญ และชื่อเรียกตามท้องถิ่นอีกหลายชื่อ ตามนี้เลย 

          ตำลึง ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Coccinia grandis Voigt และยังมีชื่อสามัญของตำลึงหรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Ivy gourd ด้วยนะคะ ส่วนตำลึงในชื่อบ้าน ๆ นั้นเรียกกันอย่างหลากหลาย ทั้งตำลึง สี่บาท (ภาคกลาง) ผักแคบ (ภาคเหนือ) ผักตำนิน (ภาคอีสาน), แคเด๊าะ (แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น


ลักษณะทางพฤษศาสตร์ของตำลึง

          ตำลึงจัดเป็นพืชในตระกูลไม้เลื้อย มีใบเป็นใบเดี่ยว มีมือเกาะ ใบตำลึงจะแผ่เว้าเป็น 5 แฉก ขนาดใบตำลึงมีความกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร โคนใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลมมน ผิวใบเกลี้ยง ก้านใบยาว 3-6 เซนติเมตร 

          ดอกตำลึงมีสีขาว เป็นดอกเดี่ยว แยกเพศ ดอกตำลึงเพศผู้จะมีขนาด 4-6 เซนติเมตร 1 ดอก มีอยู่ 5 กลีบ เกสรตัวผู้ 3 อัน ส่วนดอกตำลึงเพศเมีย เกสรจะแยกเป็น 3-5 แฉก ส่วนกลีบดอกเหมือนดอกตำลึงเพศผู้ทุกประการ

          ตำลึงมีผลด้วยนะคะ ผลตำลึงมีรูปทรงป้อม ขอบขนาน ขนาดผลกว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ถ้าผลตำลึงอ่อนจะมีสีเขียว ผลตำลึงแก่จะมีสีส้มออกแดง ข้างในผลตำลึงจะมีเมล็ดลักษณะแบนรี ขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร จำนวนมาก



ตำลึง คุณค่าทางโภชนาการของผักริมรั้ว

          ข้อมูลจากกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แสดงคุณค่าทางโภชนาการของใบตำลึงและยอดอ่อนตำลึงปริมาณ 100 กรัม ไว้ดังนี้

          พลังงาน 39 กิโลแคลอรี

          น้ำ 90.7 กรัม

          โปรตีน 3.3 กรัม

          ไขมัน 0.4 กรัม

          คาร์โบไฮเดรต 5.5 กรัม 

          ใยอาหาร 1.0 กรัม

          เถ้า 0.1 กรัม

          แคลเซียม 126 มิลลิกรัม

          ฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม

          ธาตุเหล็ก 4.6 มิลลิกรัม

          เบต้าแคโรทีน 5,190 ไมโครกรัม

          วิตามินเอ 865 ไมโครกรัม

          ไทอามีน 0.17 มิลลิกรัม
    
          ไรโบฟลาวิน 0.13 มิลลิกรัม 

          ไนอะซิน 1.2 มิลลิกรัม

          วิตามินซี 34 มิลลิกรัม




ตำลึง สรรพคุณผักริมรั้วที่น่าทึ่ง !

สรรพคุณของตำลึงจะมีอะไรบ้าง มาดูกันเลย

1. บำรุงสายตา
    
          แหล่งวิตามินเอที่สำคัญที่เราสามารถหาได้จากอาหารก็ต้องยกให้ตำลึงเป็นแหล่งที่ดีของวิตามินเอเลยล่ะค่ะ และนอกจากวิตามินเอแล้ว เบต้าแคโรทีนในตำลึงยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สามารถเปลี่ยนตัวเองเป็นวิตามินเอได้อีก ดังนั้นตำลึงจึงจัดเป็นอาหารบำรุงสายตาตัวจี๊ดที่หากินได้ง่าย ๆ แถมยังอร่อยด้วย 

          - 10 วิตามินบำรุงสายตา ตาพร่า ตามัว ดูแลด้วยอาหารใกล้ตัวตามนี้ !

2. เสริมภูมิต้านทาน
     
          จะเห็นได้ว่าตำลึงมีวิตามินเอและเบต้าแคโรทีนซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอค่อนข้างสูง ส่วนนี้จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้เราไม่ป่วยไข้ได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะอาการไข้หวัด ซึ่งหากร่างกายขาดวิตามินเอ ก็มีโอกาสจะป่วยไข้ได้ง่ายเลยนะคะ

3. ตำลึงรักษาเบาหวาน

          สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ตำลึงเป็นผักที่มีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างฟลาโวนอยด์ค่อนข้างสูง สามารถช่วยรักษาและป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ ทั้งโรคเบาหวาน เนื่องจากมีงานวิจัยที่พบว่าตำลึงช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ ส่วนในใบตำลึงก็มีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่หลายชนิด จึงช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้นั่นเอง

          ทั้งนี้การกินตำลึงเพื่อลดน้ำตาลในเลือด สามารถทำได้โดยใช้เถาแก่ของตำลึงประมาณครึ่งถ้วย นำมาต้มกับน้ำ หรือนำน้ำคั้นจากผลตำลึงดิบ ๆ ดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น น้ำตำลึงก็จะช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้


4. บำรุงกระดูก

          จากการศึกษาของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ใบตำลึงมีแคลเซียมสูง และแคลเซียมจากตำลึงยังเป็นแคลเซียมชนิดที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้เทียบเท่ากับแคลเซียมที่อยู่ในนมวัว ดังนั้นผู้ที่มีอาการแพ้นมวัว หรือดื่มนมแล้วท้องเสียก็สามารถหันมารับแคลเซียมจากตำลึงแทนได้เช่นกัน

5. แก้อาการแสบคันจากแมลงสัตว์กัดต่อย 

          ใบตำลึงมีฤทธิ์เย็น ช่วยดับพิษร้อนจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้ในระดับหนึ่ง โดยให้ล้างแผลด้วยน้ำไหลให้สะอาด จากนั้นใช้ใบตำลึงไม่แก่จัดหรืออ่อนจัดจนเกินไป ล้างใบตำลึงให้สะอาด จากนั้นขยี้ใบตำลึงแล้วมาประคบผิวบริเวณที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อยสักพัก อาการแสบคันจะบรรเทาขึ้น แต่หากอาการแสบร้อนยังไม่หาย ให้หมั่นเปลี่ยนใบตำลึงบ่อย ๆ แต่หากอาการแสบร้อนหาย แต่อาการคันไม่หาย แนะนำให้ใช้ยาทาแก้คันแผนปัจจุบันร่วมด้วย

6. ช่วยย่อยอาหาร

          ใบตำลึงและเถาตำลึงมีเอนไซม์อะไมเลสอยู่มาก ซึ่งเอนไซม์ตัวนี้มีคุณสมบัติช่วยย่อยอาหารจำพวกแป้งได้ดี ดังนั้นใครมีอาการแน่นท้อง ท้องอืดจากอาหารไม่ย่อย โดยเฉพาะคนที่กินแป้งเข้าไปมาก ๆ ให้ใช้ใบตำลึงประมาณ 1 กำมือ ผสมกับเถาตำลึงเด็ดขนาดเท่านิ้วก้อย 1 กำมือ โขลกรวมกันจนเป็นเนื้อเดียว จากนั้นคั้นเอาแต่น้ำตำลึงมาผสมน้ำอุ่น 1 แก้วกาแฟ กินก่อนอาหารประมาณ 5-10 นาที เพื่อเรียกน้ำย่อย หรือจะใช้ใบตำลึงแก่ลวกพอสุก กินเป็นผักเคียงพร้อมกับอาหารในแต่ละมื้อเลยก็ได้


ตำลึง สรรพคุณทางยาก็น่าเด็ดไม่น้อย

          สรรพคุณของตำลึงมีประโยชน์แทบจะทุกส่วนของต้นเลยก็ว่าได้ โดยสามารถจำแนกสรรพคุณทางยาของตำลึงได้ดังนี้

          - ใบ มีรสเย็น สรรพคุณดับพิษร้อน ถอนพิษ แก้แสบคัน บรรเทาเริม งูสวัด โดยนำใบมาขยี้คั้นเอาแต่น้ำ แล้วทาบริเวณที่เป็น

          - เถา มีรสเย็น สรรพคุณช่วยรักษาโรคตาเจ็บ ใช้แก้ตาฟาง ตาช้ำ โดยใช้เถาโขลกพอแหลก แล้วนำมาประคบตา

          - ดอก ใช้แก้คัน คั้นเอาแต่น้ำ มาทาบริเวณที่คัน

          - ผล รักษาโรคผิวหนัง รักษาอาการอักเสบของหลอดลม และช่วยลดน้ำตาลในเลือด โดยคั้นน้ำจากผลสดมาดื่มวันละ 2 ครั้ง 

          - เมล็ด นำมาตำกับน้ำมันมะพร้าว ใช้แก้หิด 

          - ราก ใช้ต้มกับน้ำดื่มลดไข้ ลดอาเจียน 

          - ต้น ใช้กำจัดกลิ่นตัว น้ำต้มจากต้นตำลึงรักษาเบาหวานได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กองโภชนาการ กรมอนามัย
สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
องค์การสวนพฤกษศาสตร์
สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา
รายการอาหารเป็นยา
หนังสือ ๑๐๘ สมุนไพรไทย ใช้เป็น หายป่วย โดย พิมลพรรณ อนันต์กิจไพศาล
ประเด็นที่เกี่ยวข้อง
ตำลึง
ผักรักษาโรค
สมุนไพรพื้นบ้าน 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้